วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตํารวจตรวจคนเข้าเมือง




ประวัติสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

           ก่อนปี พ.ศ.2470 ไม่มีการจัดวางระเบียบกำกับ ตรวจตราคนต่างด้าวเข้ามาสู่ประเทศสยาม ฉะนั้น การเดินทางเข้า-ออกของคนต่างด้าวจึงเป็นไปโดยเสรี
           ในปี พ.ศ.2470 มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า โดยที่การจัดวางระเบียบ กำกับตรวจตราคนต่างด้าวเข้ามาสู่ประเทศสยามเป็นสิ่งที่ พึงปรารถนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2470 ขึ้นโดยมีเจ้าพนักงานเพื่อให้ปฏิบัติการตามบท พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
          พ.ศ.2470 พร้อมจัดตั้งหน่วยงานเรียกว่า “กรมตรวจคนเข้าเมือง” ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยและทรง พระกรุณาโปรดเปล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ นาย พันตำรวจเอก พระยาวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) เป็นเจ้ากรมกรมตรวจคนเข้าเมือง            ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2470 เป็นต้นไป และมีที่ทำการอยู่ที่ ถนนนเรศ เป็นอาคาร 2 ชั้น อยู่ใกล้ สน.บางรัก ในปัจจุบัน ขณะนั้นมี เจ้าพนักงานเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญประมาณ 50-60 คน การเดินทางเข้า-ออก ของคนต่างด้าวส่วนใหญ่จะเข้ามาโดยพาหนะทางน้ำและทางบก มีศูนย์รวมอยู่ในกรุงเทพฯ และกองตรวจคนเข้าเมืองมณฑล ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด และด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอ ในภาคตะวันออกและภาคใต้
           ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2474 มีพระบรมราชโองการในสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า กรมตรวจ คนเข้าเมือง มีลักษณะติดต่อกับภารกิจตำรวจมากควรยกไปรวมขึ้นกับกรมตำรวจภูธร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนกรมตรวจคนเข้าเมือง ไปรวมขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของกรมตำรวจภูธร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2475 เป็นต้นไป โดยหน่วยงานในสังกัดยังคง มีเช่นเดิมและมีที่ทำการอยู่ที่เดิม (ถนนเรศ)
           ปี พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรจัดวางโครงการณ์กรมตำรวจขึ้นใหม่ เพื่อให้ได้ราชการดียิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าด้วยความแนะนำยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรให้เปลี่ยนชื่อ กรมตำรวจภูธร เป็น กรมตำรวจ และให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดแบ่งแผนกงาน รายย่อยออกไป ตามสมควรแก่รูปการ และเมื่อได้รับอนุมัติของคณะกรรมการาษฎรแล้วให้ถือว่าใช้ได้ ประกาศมา ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 (ประกาศ รจ.เล่ม 49 หน้า 492-493 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2475) ต่อมาได้มีประกาศเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดแบ่งแผนกงานรายย่อยในกรมตำรวจ โดยในส่วนที่ 1 กองบังคับการ แบ่งออกเป็น 6 กอง กองที่ 5 คือ กองตรวจเข้าเมือง มีหัวหน้าเป็นผู้กำกับการ 1 นาย แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ
           1.แผนกสารบรรณ
           2.แผนกบัญชี
           3.แผนกทะเบียนออกใบอนุญาต
           4.แผนกตรวจคนโดยสารและยานพาหนะ
           ประกาศมา ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2475 (ประกาศ รจ.เล่ม 49 หน้า 499-500 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2475) แต่ยังมีกองตรวจคนเข้าเมืองมณฑล ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด และด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอ ในภาคตะวันออกและภาคใต้ อยู่ในสังกัดกองตรวจคนเข้าเมือง และมีที่ทำการอยู่ที่เดิม (ถนนนเรศ)
           ปี พ.ศ.2476 กองตรวจคนเข้าเมืองได้ปรับโครงสร้าง ครั้งที่ 1 ตาม พ.ร.ฏ.จัดวางระเบียบกรม ในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2476 โดย กองตรวจคนเข้าเมืองเป็นราชการกลาง แบ่งเป็น 4 แผนก คือ
           1. แผนกสารบรรณ
           2. แผนกบัญชี
           3. แผนกทะเบียน
           4. แผนกตรวจคนโดยสาร
           ประกาศมา ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2476 (ประกาศ รจ.เล่ม 50 หน้า 202 วันที่ 23 พฤษภาคม 2476) และมีการเปลี่ยนชื่อจากกองตรวจคนเข้าเมืองมณฑล เป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด แต่ยังคงมีด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด และด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอ ในภาคตะวันออกและภาคใต้ อยู่ในสังกัดกองตรวจคนเข้าเมือง และมีที่ทำการอยู่ที่เดิม (ถนนนเรศ)

 


อ้างอิงจากเว็บ http://immigrationdiv6.go.th/index.php?cmd=about5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น